ไม้สัก
ไม้สัก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tectoma Grandis อยู่ในวงศ์ Verbenaceae มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย และหมู่เกาะ อินเดียตะวันออก
ไม้สัก เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางและตะวันตก คือ ท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิต์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิจิตร และมีบ้างเล็กน้อยในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี ไม้สักชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบ พื้นที่ดินปนทรายที่น้ำไม่ขัง ไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นกัน ไม้สักมักเป็นหมู่ไม้สักล้วนๆ และมีขนาดใหญ่และชอบขึ้นที่ที่มี ชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง ไม้สักเป็นไม้ผลัดใบ ขนาดใหญ่ที่มีลำต้นเปล่า มักมีพูพอนตอนโคนต้นเรือน ยอดกลมสูงเกินกว่า ๒๐ เมตร เปลือกหนา สีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทาแตกเป็นร่องตื้นๆ ไปตามทางยาวและหลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ใบใหญ่ ความกว้าง ๒๕ - ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร รูปใบรีมนหรือรูปไข่กลับ แตกจากกิ่งเป็นคู่ๆ ท้องใบสากหลัง ใบสีเขียวแกมเทาเป็นขน ดอกเป็น สีขาวนวลออกเป็นช่อใหญ่ๆ ตามปลายกิ่งเริ่มออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เซนติเมตร ผลหนึ่งๆ มีเมล็ดใน ๑ - ๔ เม็ด เปลือกแข็งมีขนสั้นๆ นุ่มๆ สีน้ำตาลหุ้มอยู่ ผลจะแก่ในราว เดือนพฤศจิกายน - มกราคม ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบแข็งปานกลาง เลื่อนใสกบ ตบแต่งง่าย คุณสมบัติที่ดีบางประการ คือ ไม้สักปลวกมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษ มีคุณสมบัติคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็นราได้อย่างดียิ่ง มีความแข็งแรงสูงตามการทดลองถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัม / ตารางเซนติเมตร มีความทนทานตาม ธรรมชาติ จากการทดลองนำแก่นของไม้สักไปปักดิน มีความทนทานระหว่าง ๑๑ - ๑๘ ปี นอกจากนี้ไม้สักทองยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ ๐.๕ ppm (ไม้สักทอง ๒๖ ตัน มีทองคำหนัก ๑ บาท) ลักษณะของไม้สักมี ๕ ชนิด คือ ๑. สักทอง ขึ้นในป่าโปร่งชื้นไกลห้วยหรือแล้ง แต่ใกล้ห้วยดินค่อนข้างสมบูรณ์การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก แต่อยู่ในที่ที่แห้งชื้นไปบ้างเท่านั้น เรือนยอดสมบูรณ์ใบมีขนาดปานกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรงผ่าง่าย มีความแข็งกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือที่เรียกกันว่า สีทอง ๒. สักหยวก ขึ้นในป่าโปร่งชื้นริมห้วย ต้นตรงเปลือกแตกเป็นร่องแต่ยาวตรงร่องของเปลือกไม้สักหยวกจะกว้างกว่า ไม้สักทอง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบขนาดกลาง เนื้อไม้หรือแก่นจะมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ถากหรือฟันง่าย ๓. สักไข ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งแล้งเป็นส่วนมาก ความเจริญเติบโตดูช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้าง ระหว่างร่องลำต้นตรงเปลา แต่มีลักษณะแกร็นๆ พุ่มของเรือนยอดบอบบางแต่ก็มีใบเต็ม จะทราบว่าเป็นสักไขก็ต่อเมื่อถึงมือช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีใขปนยากแก่การขัด และการทาแชลแลคหรือแลกเกอร์ สีของไม้สักไขจะเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง ๔. สักหิน ไม้สักพวกนี้จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งในระดับสูง การแตกของเปลือกเป็นร่องลึก และเรือนยอดดูไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติจะทราบได้แน่นอนเมื่อมีการโค่นล้มหรือตบแต่ง โดยพวกโค่นล้มเลื่อยและช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้สัก ทั่วไปและเปราะสีของเนื้อไม้สักเป็นสีน้ำตาลเข้ม ๕. สักขี้ควาย ไม้สักพวกนี้จะเกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้ง ในป่าผลัดใบต่างๆ และมักจะอยู่ในบริเวณรอยต่อของป่าโปร่ง ผลัดใบและป่าแพะ ลักษณะของเรือนยอดมักจะไม่สมบูรณ์ลำต้นจะตายบ้าง กิ่งบนเรือนยอดแห้งตายไปบ้างกิ่งสองกิ่ง ลักษณะของ เปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก จะทราบได้ชัดก็เมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู จะเห็นได้ชัดว่าเนื้อไม้มีสีเขียวปน น้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน ปนกันดูเป็นสีเลอะๆ ในบรรดาไม้สักทั้ง ๕ ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายานามในวงการป่าไม้ว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" หรือ Queen of Timbers" เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทยโดยเฉพาะ อนาคตไม้สักกำลังจะหมดไปจงช่วยกัน ปลูกไม้สักเพื่อเป็นมรดกของชาติและลูกหลานตั้งแต่วันนี้ ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก ค้นพบเมื่อปี ๒๔๗๐ ที่วนอุทยานต้นสักใหญ่ อำเภอน้ำปาด อุตรดิต์ มีความสูงประมาณ ๔๗ เมตร ปัจจุบันเหลือประมาณ ๓๗ เมตร เนื่องจากเรือนยอดถูกลมพัดหักเมื่อ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๐ วัดขนาดความโตโดยรอบต้นที่ ระดับสูง ๑๓๐ เซนติเมตร จากพื้นดิน ๑,๐๐๓ เซนติเมตร อายุของต้นสักใหญ่ประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ปัจจุบันจาก พ.ร.บ สวนป่า พ ศ ๒๕๓๕ อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้สัก และนำไปใช้ประโยชน์ได้ จากตารางสถิติการขายและราคาไม้ซุงสักขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๓๓ ระบุว่าราคาไม้สักต่อลูกบาศก์ เมตรละ ๘,๔๗๗ บาท ส่วนราคาไม้สักที่มีคุณภาพ เช่น สักทองคงจะมีราคาสูงกว่านี้และราคานี้ก็คงจะสูงขึ้นไปอีกเมื่อเวลาผ่านไป (จากหนังสือปลูกสักทองเชิงธุรกิจ มณฑี โพธิ์ทัย พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปรับปรุงใหม่ สำนักพิมพ์เม็ดพายพริ้นติ้ง ๒๕๓๘)
ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp8/cem/cem709.html
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น